บทความนี้จะเจาะลึกกฎหมายโดรนของประเทศไทย การจำแนกประเภทน่านฟ้า และเทคโนโลยีที่ทำให้การปฏิบัติการโดรนปลอดภัยและชาญฉลาด
โดรนเป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากที่เคยเป็นเทคโนโลยีเฉพาะของหน่วยงานด้านความมั่นคง ปัจจุบันโดรนกลายเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงได้ และถูกนำไปใช้หลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพทางอากาศ การตรวจสอบพืชผล การประกอบภารกิจกู้ภัย หรือแม้กระทั่งการส่งของในเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง การที่มีโดรนมากมายบินอยู่บนท้องฟ้าก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ตามมา ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และความจำเป็นในการควบคุมเส้นทางการบิน ดังนั้นการจัดระเบียบและออกกฎที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินใช้งานโดรนได้อย่าง ปลอดภัย และไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจุบัน โดรนมีหลายประเภท แต่ละประเภทมีตัวเครื่องและวิธีใช้งานที่เหมาะสม แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่โดรนขนาดเล็กสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ออกแบบมาเพื่อถ่ายภาพ และวิดีโอ ไปจนถึงโดรนสำหรับองค์กรที่ใช้งานเฉพาะทางเช่น การทำแผนที่ 3 มิติ การตรวจสอบสายไฟฟ้าแรงสูง การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ยกตัวอย่างการใช้งานในด้านเกษตรกกรม โดรนสามารถใช้กล้องถ่ายภาพแบบหลายสเปกตรัม หรือใช้กล้องจับความร้อนวิเคราะห์ความชื้นของดิน ความเขียวของพืช และสภาพแวดล้อมได้อย่างละเอียด
ในวงการโลจิสติกส์ โดรนขนส่งกำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งพัสดุไปพื้นที่ ห่างไกลเช่น บนภูเขาหรือพื้นที่ที่ไม่มีถนนเข้าถึง และในบางประเทศกำลังมีการทดลองใช้โดรน อัตโนมัติที่ไม่ต้องมีคนบังคับตลอดเวลา โดยมันสามารถบินไปตามเส้นทางที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ผ่านระบบ GPS, RTK หรือระบบประมวลผลอัจฉริยะ ที่ช่วยให้มันหลบสิ่งกีดขวางได้เอง และในอีกด้านหนึ่ง โดรน FPV (First Person View) ก็ได้รับความนิยมในหมู่นักแข่งและผู้สร้าง คอนเทนต์ เพราะสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว เสมือนคุณกำลังนั่งอยู่ในตัวโดรนเอง
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า โดรนไม่ได้เป็นแค่ของเล่นหรือเครื่องมือสร้างความบันเทิง อีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรม และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้ ยิ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของระบบกฎหมาย และการจัดการจราจรทางอากาศ เพื่อให้การใช้งานโดรนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และยั่งยืนในอนาคต
แม้โดรนจะมีศักยภาพและถูกนำไปใช้งานในหลายด้านมากขึ้น แต่การปล่อยให้บินโดย ไม่มีการควบคุม อาจสร้างความเสี่ยงทั้งด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวได้
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งกฎหมายและข้อบังคับควบคุมการใช้งานโดรนในประเทศไทย โดยมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ที่รับผิดชอบเรื่องการลงทะเบียนอากาศยาน และการอนุญาตให้บินในพื้นที่ควบคุม, สำนักงาน กสทช. (NBTC) ที่ดูแลเรื่องคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้ควบคุมโดรน และ กองทัพอากาศไทยที่ควบคุมพื้นที่หวงห้ามด้านความมั่นคง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณใช้โดรนที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม หรือมีการติดตั้งกล้องถ่ายภาพ จะต้องลงทะเบียนกับ CAAT และได้รับอนุญาตก่อนบิน หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังมีกฎข้อห้ามสำคัญที่ผู้ใช้ทุกคนควรรู้ เช่น ห้ามบินในรัศมี 9 กิโลเมตรจากสนามบิน, ห้ามบินสูงเกิน 90 เมตรจากพื้นดิน รวมถึงห้ามบินในเวลากลางคืน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ โดยข้อบังคับเหล่านี้มีขึ้นเพื่อปกป้องผู้คน อากาศยานที่มีนักบิน และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่างๆ เช่น สนามบิน โรงไฟฟ้า หรือศูนย์ข้อมูลรัฐบาล ดังนั้นการรู้กฎหมายและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง จะช่วยให้คุณปลอดภัยจากการทำความผิด และยังช่วยให้ท้องฟ้าของเราน่าใช้งาน ร่วมกันอย่างยั่งยืนในระยะยาว
การบินโดรนอย่างปลอดภัย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการบังคับ หรือเทคโนโลยีที่โดรนมีติดตัวมาเท่านั้น แต่ยังรวมเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ “พื้นที่ทางอากาศ” ที่ถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อจัดระเบียบการจราจรทางอากาศ และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ หรือการรบกวนการบินอื่นๆ โดยทั่วไปพื้นที่ทางอากาศแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่ พื้นที่ที่สามารถบินได้อย่างอิสระ พื้นที่ที่อนุญาตให้บินได้แต่มีข้อจำกัดเฉพาะบางประการ และพื้นที่ที่ห้ามบินโดยเด็ดขาด
ผู้ใช้งานโดรนจำเป็นต้องเข้าใจพื้นที่ทางอากาศทั้ง 3 ประเภท เพราะหากเผลอบินเข้าไปในพื้นที่ห้ามบินโดยไม่ตั้งใจ อาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โดยพื้นที่ที่มักมีข้อจำกัดหรือถูกห้ามบินเช่น พื้นที่โดยรอบสนามบินในรัศมี 9 กิโลเมตร สนามกีฬาที่กำลังมีการแข่งขัน อาคารหรือศูนย์ราชการสำคัญ รวมถึงพื้นที่ทหารที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยสูง ในบางกรณี การละเมิดเขตหวงห้ามเหล่านี้ไม่ได้แค่ผิดกฎหมาย แต่ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเครื่องบิน โดยสารหรือ บุคคลในพื้นที่ได้โดยตรง
ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ใช้งานโดรนในเมือง หรือบริเวณที่มีอาคารสูงควรระวัง เรื่องระดับความสูงของการบิน เพราะหากบินเกินระดับที่กฎหมายกำหนด อาจเกิดความเสี่ยงในการชนกับโครงสร้าง หรือรบกวนเส้นทางของอากาศยานอื่นๆ ได้
ในปัจจุบันมีเครื่องมือดิจิทัลมากมายที่ช่วยวางแผนการบินให้ปลอดภัยและสะดวกยิ่งขึ้นเช่น แอปพลิเคชัน UAS Thailand, SkySafe หรือ DroneBuddy ซึ่งช่วยบอกได้ว่าพื้นที่ใดสามารถบินได้ เวลาใดควรหลีกเลี่ยง และมีข้อจำกัดอะไรที่ควรระวัง
เมื่อเรารู้เท่าทันทั้งเทคโนโลยีและข้อกฎหมาย ก็จะสามารถใช้งานโดรนได้อย่างมั่นใจ ซำ้ยังช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาและส่งเสริมวัฒนธรรมการบินที่ปลอดภัยและยั่งยืน
ด้วยจำนวนโดรนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ระบบจัดการจราจรทางอากาศแบบเดิม ที่ใช้กับสายการบิน (ATM) จึงไม่เพียงพอต่อการรองรับการเคลื่อนที่ของโดรนอีกต่อไป จึงเกิดแนวคิดและการพัฒนาระบบใหม่ที่เรียกว่า UTM หรือ ระบบจัดการจราจรอากาศยานไร้คนขับ ซึ่งออกแบบมาเพื่อดูแลการบินของโดรนโดยเฉพาะ
UTM ช่วยให้โดรนหลายร้อยหลายพันลำสามารถบินในพื้นที่ทางอากาศระดับต่ำ ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลแบบเรียลไทม์ การติดตามตำแหน่ง การวางแผนเส้นทางบิน รวมถึงระบบหลีกเลี่ยงการชนทั้งระหว่างโดรนด้วยกันเอง และระหว่างโดรนกับอากาศยานที่มีคนขับ แทนที่จะควบคุมทั้งหมดจากศูนย์กลางเหมือนระบบ ATM แบบเดิม ระบบ UTM มุ่งเน้นการควบคุมแบบกระจาย โดยให้ผู้ให้บริการ UTM รายย่อยดูแลโดรนในพื้นที่เฉพาะ ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลหรือศูนย์กลางจะทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแล และกำหนดมาตรฐานกลางของระบบ โดยระบบนี้เปรียบเสมือนระบบจราจรบนถนน ที่อาศัยสัญญาณไฟและกฎจราจรคอยจัดการโดยไม่มีเจ้าหน้าที่ โดรนจะใช้ข้อมูลจาก GPS ระบบ Remote ID รวมถึงปัญญาประดิษฐ์เพื่อประเมินความเสี่ยงและนำทางไปตามเส้นทางที่ ปลอดภัยที่สุด ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ได้เริ่มทดสอบระบบ UTM อย่างจริงจัง ทั้งการบินโดรนอัตโนมัติ การจัดสรรระดับความสูง และการตอบสนองในสถานการณ์ ฉุกเฉิน ประเทศไทยเองก็ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันวิจัยเพื่อศึกษาและพัฒนาระบบ UTM ให้พร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมโดรนในอนาคตอย่างมั่นคงและปลอดภัย เช่นเดียวกัน
เบื้องหลังความปลอดภัยและความสมบูรณ์แบบของการบินโดรนในปัจจุบัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับฮาร์ดแวร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการผสมผสานของเทคโนโลยีหลายอย่าง ที่ทำงานร่วมกันแบบไร้รอยต่อตลอด 24 ชั่วโมง โดยเทคโนโลยีพื้นฐานที่โดรนทุกลำใช้คือระบบ GPS หรือระบบกำหนดตำแหน่งทั่วโลก แต่ถ้าต้องการความแม่นยำสูงขึ้นเช่น ในงานเกษตรกรรมแบบ sense-and-spray หรือการบินสำรวจโครงสร้างอย่างกังหันลมและ เสาไฟฟ้า โดรนมัลติโคปเตอร์จะติดตั้งระบบ RTK-GPS ที่ช่วยให้ความแม่นยำอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เซนติเมตร
อีกหนึ่งเทคโนโลยีสำคัญคือ ระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง ซึ่งใช้เซ็นเซอร์เช่น LIDAR กล้องสเตอริโอ และเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก เพื่อรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวโดรนแบบเรียลไทม์ และช่วยนำทางหลีกเลี่ยงอุปสรรคอย่างอาคาร สายไฟฟ้า หรือสิ่งกีดขวางที่ไม่มีอยู่ในแผนที่ นอกจากนี้ ระบบ Remote ID ที่เป็นมาตรฐานใหม่ ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถระบุโดรน และผู้ควบคุมได้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำงานระบบ UTM ที่จะจัดการโดรนจำนวนมากอย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ เทคโนโลยีสื่อสารผ่านเครือข่าย 4G หรือ 5G ถูกนำมาใช้ในระบบ เพื่อส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ระหว่างโดรนและศูนย์ควบคุม ส่วนการประมวลผลบนคลาวด์ ก็ช่วยให้โดรนตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น ตลอดจนการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย วิเคราะห์หาเส้นทางบินที่ดี เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ทางอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง และอัปเดตอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความปลอดภัยในการบิน แต่ยังเป็นก้าวสำคัญสู่ระบบการบินโดรนอัตโนมัติที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นในอนาคต
แม้โดรนจะเป็นประตูสู่โอกาสใหม่ในหลายๆ ด้าน ทั้งอุตสาหกรรม เกษตรกรรม โลจิสติกส์ และสื่อสร้างสรรค์ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ใช้โดรนก็ต้องรับผิดชอบต่อการดูแลรักษาความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคม รวมถึงระบบนิเวศทางอากาศของประเทศไทยด้วย การเข้าใจกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงเขตห้ามบิน และการจัดการจราจรทางอากาศสำหรับโดรน หรือที่เรียกว่า UTM เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันปัญหาทางกฎหมายแล้ว ยังช่วยสร้างมาตรฐานความปลอดภัยที่ทุกฝ่ายสามารถไว้วางใจได้
นอกจากนี้ การเรียนรู้และติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบ Remote ID ระบบหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง และการสื่อสารผ่านเครือข่าย 5G ก็มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโดรนให้ก้าวสู่การบินอัตโนมัติ และทำงานร่วมกับอากาศยานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยโครงสร้างพื้นฐาน UTM ที่กำลังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการสนับสนุนจากภาคการศึกษาและผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมโดรนของประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะก้าวสู่ความยั่งยืน และกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการจัดการพื้นที่ทางอากาศได้ในอนาคต